วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

การเลือกใช้ปลั๊กไฟสายพ่วงอย่างถูกวิธี


การเลือกใช้ปลั๊กไฟสายพ่วงอย่างถูกวิธี

ปัจจุบันในหลายครัวเรือนมีการใช้ปลั๊กไฟสายพ่วงกันแพร่หลาย ซึ่งปลั๊กไฟสายพ่วงมีหลากหลายประเภท หลายยี่ห้อ ผู้ใช้งานหลายรายใช้งานที่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง จุดประสงค์หลักของปลั๊กไฟสายพ่วงถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับงานชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้ออกแบบมาใช้งานงานแบบถาวร ดังนั้นห้ามนำไปติดตั้งหรือใช้งานแบบเสียบตลอดเวลาเพราะสายไฟอาจเกิดการชำรุด ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ บทความนี้จะกล่าวถึงปลั๊กไฟสายพ่วง ในเรื่องต่างๆต่อไปนี้
คุณลักษณะที่ดีของปลั๊กไฟสายพ่วง
1. สายไฟของชุดสายพ่วงต้องมีฉนวนหุ้มสายไฟด้านในอีกชั้นหนึ่งรวม 2 ชั้น เพื่อป้องกันความปลอดภัยจากการที่สายอาจจะชำรุดหรือขาดได้ง่าย


2. เต้ารับต้องทำด้วยทองเหลือง

3. มีอุปกรณ์ป้องกันการใช้ไฟเกิน อาทิ ฟิวส์ หรือเบรกเกอร์


4. ควรเป็นสายอ่อนที่มีสายทองแดงย่อยๆ มีขนาดสายรวมไม่ต่ำกว่า 0.824 ตารางมิลลิเมตร (sqmm)
หรือสายเบอร์ 18 AWG (แนะนำให้ใช้สายที่มีค่าสูงกว่า 1.0 sqmm)

หมายเหตุ : ตัวอย่าง ตารางเทียบขนาดสาย


หลักการเลือกซื้อปลั๊กไฟสายพ่วง

1. เลือกซื้อปลั๊กไฟสายพ่วงที่ในส่วนของสายไฟอ่อนต้องได้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)ประเภทสายไฟทองแดงหุ้มด้วยโพลิไวนิลคลอไรด์ มอก. 11-2531

2. พิจารณาคุณลักษณะ คุณภาพของวัสดุที่นำมาทำชุดปลั๊กไฟสายพ่วง ทั้งในส่วนของเต้าเสียบ เต้ารับ อุปกรณ์ป้องกันและรางปลั๊กไฟ ต้องดูแน่นหนา สภาพแข็งแรง ไม่หลวมหลุดง่าย เต้ารับต้องทำด้วยทองเหลือง ตัวปลั๊กเสียบต้องเป็นโลหะที่ทนต่อการกัดกร่อน แข็งแรง บริเวณขั้วปลั๊กกับส่วนของสายไฟต้องมีข้อยืดหยุ่นรองรับการงอได้ดี
3. ปลั๊กไฟสายพ่วงที่ดีต้องมีสวิตช์เปิด-ปิด เพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดปลั๊กจากเต้าเสียบ
4. ปลั๊กไฟสายพ่วงที่ดีต้องมีฟิวส์ หรือ BREAKER ช่วยตัดกระแสไฟฟ้าหากใช้ไฟฟ้าเกินขนาดที่กำหนด
5. สายไฟของชุดสายพ่วงต้องมีฉนวนหุ้ม 2 ชั้น เพื่อความปลอดภัยจากการหักงอหรือถูกของมีคมทำให้สายไฟชำรุด
6. ระบุค่าแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดใช้งานได้ระหว่าง 220- 250 โวลต์ ที่เหมาะกับไฟฟ้าในประเทศไทย
7. วัสดุทำรางเต้ารับผลิตจากพลาสติกเอวีซี (AVC) ซึ่งเนื้อพลาสติกจะทนต่อความร้อนได้ดีกว่าพลาสติกพีวีซี (PVC) ลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้กรณีเกิดความร้อนสูง



Credit : http://mediath3.blogspot.com

มอก. 11-2531)

วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

6 เทคนิคจัดแสงไฟในห้องต่าง ๆ ของบ้าน


จัดแสงไฟในบ้านให้เหมาะสมกับห้องต่าง ๆ แต่ละห้องควรใช้ไฟแบบไหน วันนี้เรามีเทคนิคจัดแสงไฟในห้องต่าง ๆ มาฝาก
แต่ละห้องของบ้าน ก็ย่อมมีสไตล์การตกแต่งและความต้องการในการใช้งานที่ต่างกัน ซึ่ง “แสงไฟ” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงฟีลลิ่งของแต่ละห้องได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเพื่อให้ห้องต่าง ๆ ภายในบ้านมีบรรยากาศที่เหมาะสม วันนี้กระปุกดอทคอมมีเทคนิคการแต่งแสงไฟภายในห้องมาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ
1. ห้องนอน
ห้องนอนเป็นห้องสำคัญของทุกคน ซึ่งบรรยากาศภายในห้องนอนควรรู้สึกสงบและอบอุ่น อีกทั้งควรให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เพราะเป็นห้องที่ใช้ในการพักผ่อนอย่างแท้จริง ดังนั้นแสงไฟในห้องนอนจึงควรใช้แสงไฟที่ไม่สว่างจัด เช่น แชนเดอเลียร์, ไฟซ่อนผนัง, ไฟฝังฝ้า หรือจะเป็นหลอดไฟในบ้านทั่ว ๆ ไปก็ได้ แต่ไม่ควรให้แสงอ่อนมากเกินไป หากมีการอ่านหนังสือควรใช้แสงสว่างให้เพียงพอ หรือมีโคมไฟหัวนอนเสริม
 ภาพจาก Michael Fullen Design Group 
2. ห้องนั่งเล่น
ห้องนั่งเล่นคือจุดสำคัญ ที่มีไว้รับแขกและใช้ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เรียกว่าเป็นห้องอเนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนแสงไฟได้หลากหลายให้ตรงกับความต้องการ แต่ควรให้มีแสงสว่างมากหน่อย เช่น ใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือหากอยากให้มีความนุ่มนวลสวยงาม อาจใช้แสงไฟนวล ๆ จากหลอดสีส้ม หรือแสงไฟเฉพาะจุดที่เน้นงานศิลปะ ตู้โชว์ ฯลฯ ก็ได้
ภาพจาก Avenue Lifestyle 

3. ห้องน้ำ
เป็นอีกหนึ่งห้องที่มีความสำคัญสำหรับทุกคนในบ้าน เพราะเราต้องใช้ห้องน้ำกันวันละหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อให้ห้องน้ำไม่เกิดความอับชื้น มองเห็นทางเดินได้ชัดเจน ไม่ลื่นล้ม ควรเลือกแสงไฟที่สว่าง ๆ หากเปิดให้แสงธรรมชาติถ่ายเทผ่านเข้ามาได้มากยิ่งดี ทั้งนี้หากมีโต๊ะเครื่องแป้งสำหรับแต่งหน้า แต่งตัว อยู่ภายในห้องน้ำ ให้ติดไฟรอบ ๆ กระจกด้วยแสงอ่อนนุ่ม
  ภาพจาก DKOR Interiors 
4. ห้องครัว
สำหรับห้องครัวที่เราใช้ประกอบอาหาร ควรใช้แสงไฟสว่างตั้งแต่แสงปกติไปจนถึงสว่างเป็นพิเศษ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ทั่วไป หรือหลอดไฟฮาโลเจนก็ได้ และควรเปิดช่องให้มีอากาศถ่ายเท มีแสงจากธรรมชาติเข้ามามากที่สุด เนื่องจากในห้องครัวไม่ควรเป็นจุดอับ อีกทั้งควรเพิ่มแสงสว่างใต้เครื่องดูดควัน หรือใต้ตู้เก็บของชั้นบนด้วย
 ภาพจาก Cynthia Marks Interiors 
5. ห้องทำงาน
ห้องทำงานคือห้องที่ต้องใช้สมาธิมาก ความเงียบสงบ สบาย ๆ และไม่จัดจ้าน จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้มากกว่า ดังนั้นแสงที่ใช้ในห้องทำงานจึงควรเป็นแสงธรรมชาติ หรือหลอดไฟแสงสีขาว เพื่อให้สีภายในห้องไม่ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะเมื่อต้องเพ่งสายตากับคอมพิวเตอร์นาน ๆ
ภาพจาก Heather Merenda 
6. ห้องรับประทานอาหาร
การเพิ่มบรรยากาศดี ๆ ให้กับห้องรับประทานอาหาร ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกแสงไฟที่สว่างและสะอาดตา โดยเฉพาะแสงไฟสวย ๆ จากแชนเดอเลียร์เหนือโต๊ะอาหาร ที่จะทำให้ทุกจานบนโต๊ะอาหารดูน่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้โคมไฟควรเล็กกว่าด้านกว้างของโต๊ะประมาณ 6-12 นิ้ว และสูงเหนือโต๊ะประมาณ 2 ฟุต
ถึงแม้ว่าแต่ละห้องจะมีสไตล์การตกแต่งที่แต่งต่างกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มความใส่ใจในการเล่นแสงไฟเข้าไปด้วย ก็จะช่วยทำให้แต่ละห้องมีบรรยากาศที่น่าอยู่มากขึ้น รู้อย่างนี้แล้วลองจัดแสงไฟในห้องต่าง ๆ ให้ถูกต้องกันนะคะ
ภาพจาก Amanda Miller Design Studio 
(Credit : kapook.com)

6 วิธีประหยัดค่าไฟบ้านช่วงหน้าร้อน




วิธีประหยัดค่าไฟบ้าน ไม่ได้ทำยากอย่างที่คิดคับ เพราะแม้อากาศจะร้อนขึ้นทุกวัน ๆ แต่ถ้าเราอยากจะลดค่าไฟบ้านในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ต้องรีบไปดูทริคประหยัดไฟด่วน วันนี้ผมขอเสนอ 6 วิธีง่ายๆ
1. ปรับอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสเสมอ
ถึงจะเป็นคำแนะนำที่ฟังกันมาจนชิน แต่หลายคนก็ยังเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสอยู่บ่อย ๆ เช่น 22 องศาเซลเซียส เป็นต้น ซึ่งเราก็เข้าใจว่าอากาศมันร้อนจริง ๆ แต่รู้ไหมคะว่า หากคุณคงอุณหภูมิแอร์ให้ไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสได้ล่ะก็ ค่าไฟของคุณจะลดลงไปอีกหลายบาทจนน่าแปลกใจเลยล่ะ ไม่เชื่อลองทำแบบนี้ดูสักเดือนสิ
2. เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เลิกใช้ซะ
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้มานาน มีสภาพเกือบทำงานไม่ไหวแล้ว เป็นตัวเพิ่มกำลังไฟชั้นดีให้บ้านเราอย่างคาดไม่ถึงเลยนะคะ ดังนั้นหากคุณมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อายุการใช้งานเกิน 3 ปีขึ้นไป ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานของเหล่านี้กันหน่อย หรือถ้าเป็นไปได้ก็เลิกใช้ไปซะน่าจะประหยัดกว่า
3. ทำความสะอาดตู้เย็นให้หมดจด
การทำความสะอาดตู้เย็นในที่นี้หมายถึง ให้คุณจัดการเคลียร์อาหารเก่าเก็บ เน่าเสียออกจากตู้เย็นเป็นประจำ รวมทั้งหมั่นกดละลายน้ำแข็ง และทำความสะอาดตู้เย็นไม่ให้มีคราบสกปรกด้วย เนื่องจากตู้เย็นที่เต็มไปด้วยของมากมาย แถมยังไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร จะใช้พลังงานมากกว่าปกติอีกหลายเท่า เพิ่มค่าไฟให้สูงขึ้นอย่างไร้ประโยชน์ใด ๆ
4. ถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน
หลายคนอาจจะคิดว่า แค่กดปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงกริ๊กเดียว ก็เท่ากับตัดกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าได้แล้ว แต่จริง ๆ ต้องบอกอย่างนี้ค่ะว่า หากคุณปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ได้ถอดปลั๊กไฟ กระแสไฟฟ้าก็ยังคงไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าตามปกติ เพื่อเป็นการสแตนด์บายให้คุณกดเปิดสวิตช์ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกครั้งได้เลยทันที ฉะนั้นการถอดปลั๊กจึงเป็นวิธีตัดกระแสไฟฟ้าที่ชัวร์ที่สุด โดยเฉพาะเหล่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเปิด-ปิด อัตโนมัติ เมื่อไม่ใช้งานก็ควรต้องถอดปลั๊กทุกครั้งด้วยนะคะ
5. มาใช้หลอดไฟ LED กันเถอะ
ด้วยข้อดีที่ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดไส้ธรรมดาถึง 80-90% และอายุการใช้งานที่คงทนมากว่า 11 ปี หรือราว ๆ 1 แสนชั่วโมง เลยทำให้หลอดไฟ LED กลายเป็นหลอดไฟที่บ้านสมัยใหม่เลือกใช้เป็นอันดับหนึ่ง และเมื่อได้รู้อย่างนี้แล้ว ก็หันมาใช้หลอดไฟ LED กันน่าจะประหยัดกว่า
6. ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ปริมาณการใช้ไฟน้อ
ช่วงเวลาที่ปริมาณการใช้ไฟน้อยจะอยู่ราว ๆ 22.00-06.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนกำลังนอนหลับ และการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ทำงานในเวลานี้ จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังไฟสำหรับการนำไปใช้งานได้อย่างเต็มที่ การทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาในการทำงานน้อยลง ประหยัดไฟบ้านได้อีกหลายบาทเชียวล่ะ

ค่าไฟจะมากหรือจะน้อย ไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราเองด้วย ดังนั้นนอกจากทำตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว ก็อย่าลืมสอดส่องเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านด้วยนะคะ หากพบเจอว่าปลั๊กตรงไฟเสียบคาไว้ โดยไม่ได้ใช้งาน ก็ให้รีบถอดปลั๊กออกด่วน ๆ เลย เป็นต้น

วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560




วิธีเลือกใช้สายไฟให้เหมาะสมกับประเภทของงาน  เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดและเป็นอันตรายเมื่อนำไปใช้งาน

ชนิดของสายไฟ

             สายไฟจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ สายสำหรับไฟแรงดันต่ำและสำหรับไฟแรงดันสูง ในบทความนี้จะกล่าวถึงสายไฟที่ใช้ตามอาคารบ้านเรือนซึ่งจัดเป็นสายไฟแรงดันต่ำ สำหรับประเทศไทย สายไฟแรงดันต่ำจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.11-2531 หรือ TIS-11-2531 ตามมาตรฐานแล้วสายไฟแรงดันต่ำจะมีหลายขนาด (พื้นที่หน้าตัด) ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งจะทนแรงดันไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 300 โวลต์ ถึง 750 โวลต์ สายไฟตามมาตรฐาน มอก.11-2531 จะแบ่งเป็นประเภทตามขนาด ความทนแรงดันไฟและการใช้งาน ได้ดังนี้

             1 สายไอวี (IV) สายชนิดนี้เป็นสายเดียวหรือแกนเดี่ยวชนิดทนแรงดันไฟ 300 โวลต์ใช้เป็นสายเดินเข้าอาคารสำหรับที่พักอาศัยที่ใช้ระบบ 1 เฟสและห้ามใช้กับระบบ3เฟสที่มีแรงดัน 380 โวลต์ การใช้งาน ถ้าเดินสายลอยต้องยึดด้วยวัสดุฉนวน หรือ เดินในช่องเดินสายสายในสถานที่แห้ง แต่ห้ามร้อยท่อฝังดินหรือฝังดินโดยตรง

             2 สายวีเอเอฟ (VAF) เป็นสายชนิดทนแรงดัน 300 โวลต์มีทั้งชนิดเป็นสายเดี่ยวสายคู่และที่มีสายดินอยู่ด้วย ถ้าเป็นสายเดี่ยวจะเป็นสายกลมและถ้าเป็นชนิด 2 แกนหรือ 3 แกนจะเป็นสายแบน ตัวนำนอกจากจะมีฉนวนหุ้มแล้วยังมีเปลือกหุ้มอีกชั้นหนึ่งสายคู่จะนิยมเดิน ตามฝาผนังด้วยเข็มขัดรัดสาย (Clip) หรือเดินในช่องเดินสาย แต่ห้ามเดินฝังดินโดยตรง การจะเดินสายประเภทนี้ใต้ดินจะต้องเดินในท่อฝังดินที่ปีกานป้องกันน้ำซึม เข้าท่อ ใช้ในบ้านอยู่อาศัยทั่วไปสายชนิดนี้ห้ามใช้ในวงจร 3 เฟสที่มีแรงดัน 380 โวลต์เช่นกัน (ในระบบ3เฟสแต่แยกไปใช้งานเป็นแบบ1 เฟสแรงดัน 220 โวลต์จะใช้ได้)



             3 สายทีเอชดับเบิลยู (THW) เป็นสายไฟฟ้า ชนิดทนแรงดัน 750โวลต์เป็นสายเดี่ยวนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากใช้ในวงจรไฟฟ้าสามเฟสปกติ แกนของสายประเภทนี้มีตัวนำทองแดงจะมีหลายสายร้อยเป็นสายใหญ่หนึ่งแกน การใช้งานคือใช้เดินลอยด้วยตัวยึดทำจากวัสดุฉนวน เดินในช่องเดินสาย หรือเดินในท่อฝังดินที่มีการป้องกันน้ำซึมเข้าสู่ท่อ แต่ห้ามฝังดินโดยตรง



             4 สายเอ็นวายวาย (NYY) มีทั้งชนิดแกน เดียวและหลายแกนสายหลายแกนก็จะเป็นสายกลมเช่นกันสายชนิดนี้ทนแรงดัน 750โวลต์นิยมใช้อย่างกว้างขวางเช่นกันเนื่องจากถูกออกแบบให้มีความคงทนต่อ สภาพแวดล้อมเพราะมีเปลือกหุ้มอีกชั้นหนึ่งบางสำหรับสายเอ็นวายวายชนิดสายเดี่ยว สายชนิดนี้จะมีฉนวนหุ้มแกนหนึ่งชั้นและมีเปลือกเพียงชั้นเดียวทำหน้าที่ ป้องกันความเสียหายทางกาย สำหรับสายเอ็นวายวายที่มีหลายแกนขึ้นไปอาจจะถูกเรียกว่าสายฉนวน 3 ชั้น ความจริงแล้วสายชนิดนี้มีฉนวนชั้นเดียวอีกสองชั้นที่เหลือเป็นเปลือกชั้นในทำหน้าที่เป็นแบบ (Form) ให้สายแต่ละแกนร้อยเกลียวเข้าด้วยกันจนมีลักษณะกลม และมีเปลือกนอกหุ้มแล้วอีกชั้นหนึ่งทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายทางกายภาพ สายเอ็นวายวายหลายแกนจะมีชนิด  2 แกนและ 4 แกนซึ่งแล้วแต่ความต้องการใช้งาน สายชนิดนี้จะมีเปลือกสองชั้นดังกล่าวแล้วข้างต้น สายเอ็นวายวายชนิด 4 แกนมีสายนิวทรัลรวมอยู่ด้วยเรียกว่าเป็นสายเอ็นวายวาย-เอ็น (NYY-N) คือมีสายไฟอยู่3เส้นและมีสายนิวทรัลอีกหนึ่งเส้นมีขนาดพื้นที่หน้าตัดประมาณ ครึ่งหนึ่งของสายเส้นไฟจึงเหมาะที่จะใช้ในวงจร 3 เฟส4สาย อีกประเภทหนึ่งคือสายชนิดเอ็นวายวาย-กราวด์ (NYY-G) คือเป็นสายชนิด 2แกน 3แกน และ4แกนที่มีสายดิน (Groud) รวมอยู่ด้วยอีกหนึ่งเส้นจึงเหมาะที่จะใช้ต่อเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดิน สายเอ็นวายๆทุกชนิดสามารถเดินใต้ดินได้โดยตรงเพราะมีเปลือกชั้นอกทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อม



             5 สายวีซีที (VCT) เป็นสายกลมมีทั้ง1แกน 2 แกน 3 แกนและ 4 แกน สามารถทนแรงดัน 750 โวลต์มีฉนวนและเปลือกเช่นกันกับสายเอ็นวายวาย มีข้อพิเศษกว่าก็คือตัวนำจะประกอบด้วยทองแดงฝอยเส้นเล็กๆร้อยรวมกันเป็นหนึ่งแกน ทำให้มีข้อดีคืออ่อนตัวและทนต่อสภาพการสั่นสะเทือนได้ดี เหมาะที่จะใช้เป็นสายเดินเข้าเครื่องจักรที่มีการสั่นสะเทือนขณะใช้งานสายชนิดนี้ใช้งานได้ทั่วไปเหมือนสายชนิดเอ็นวายวาย นอกจากนี้ยังมีสายวีซีทีเป็นชนิดวีซีที-กราวด์ (VCT-G) ซึ่งมี2 แกน 3 แกน และ 4 แกน และมีสายดินเดินรวมไปด้วยอีกเส้นหนึ่งเพื่อให้เหมาะสำหรับใช้กับเครื่อง อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดิน สายวีซีทีสามารถเดินแบบฝังดินโดยตรงได้


  
 
สายไฟฟ้ามีหลากหลายชนิด ทั้งชนิดที่เป็น ตัวนำทองแดง และตัวนำอะลูมิเนียมแต่ละชนิดยังแบ่งได้เป็นหลายประเภท ซึ่งขึ้นอยู่ กับประเภทการใช้งานของลูกค้า ยกตัวอย่างสายตัวนำทองแดงหุ้มด้วยฉนวนและเปลือกพีวีีซีและมีลักษณะสายที่แข็งโค้งงอได้ยาก ได้แก่สาย THW VAF VAF-GRD NYY NYY-GRD 0.6/1KV-CV สายตัวนำทองแดงที่มีลักษณะนิ่มโค้งงอได้ง่าย ได้แก่สาย VCT VCT-GRD VSF AV VFF VKF ส่วนสายตัวนำอะลูมิเนียมหุ้มด้วยฉนวนและเปลือกพีวีีซีและมีลักษณะสายที่แข็งโค้งงอได้ยากเช่นกัน ได้แก่สาย THW-A THWA-C NAY SAC25-35KV ในแต่ละประเภทยังแบ่งเป็นขนาดต่างๆซึ่งควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน ดังนั้นในการพิจารณาเลือกสายไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น มีหลายข้อด้วยกันที่ต้องพิจารณา ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพ ความเชื่อถือได้ และความปลอดภัยในการใช้งาน ข้อกำหนดที่ต้องพิจารณาในการเลือกสายไฟฟ้า ได้แก่ พิกัดแรงดัน( Voltage Rating),พิกัดกระแส( Current Rating ), แรงดันตก( Voltage Drop ), สายควบ( Multiple Conductors ) 

 
ประเภทของสายไฟฟ้า

   สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable) : เป็นสายไฟที่ใช้กับแรงดันไม่เกิน 750 V. เป็นสายหุ้มฉนวน ทำด้วยทองแดงหรืออลูมิเนียม โดยทั่วไปเป็นสายทองแดงสายขนาดเล็กจะเป็นตัวนำเดี่ยว แต่สายขนาดใหญ่เป็นตัวนำตีเกลียว วัสดุฉนวนที่ใช้กับสายแรงดันต่ำคือ Polyvinyl Chloride (PVC) และ Cross-Linked Polyethylene (XLPE) ได้แก่ สาย  THW, VAF, VAF-GRD, NYY, NYY-GRD, 0.6/1KV-CV, VCT, VCT-GRD, VSF, AV, VFF, VKF
  
สายไฟฟ้าแรงดันสูง (High Voltage Power Cable) : เป็นตัวตีเกลียวมีขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สายเปลือย และสายหุ้มฉนวน
   1. สายเปลือย : - สายอลูมิเนียมตีเกลียวเปลือย (AAC)
  
- สายอลูมิเนียมผสม (AAAC)
  
- สายอลูมิเนียมแกนเหล็ก (ACSR)
  
2. สายหุ้มฉนวน : - สาย Partial Insulated Cable (PIC)
  
- สาย Space Aerial Cable (SAC)
  
- สาย Preassembly Aerial Cable
  
- สาย Cross-linked Polyethylene (XLPE)
สายไฟฟ้าที่ผลิตตามมาตรฐานอื่น
หมายถึง สายไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตตามมาตรฐาน มอก 11-2531 หรือ มอก 293-2541 จึงเป็นสายไฟฟ้าทองแดงหรืออะลูมิเนียม ที่หุ้มฉนวนชนิดอื่น ที่นอกเหนือไปจากฉนวนชนิด PVC. ฉนวนที่นิยมใช้ก็คือ ครอสลิงค์โพลีเอททีลีน (Cross-Linked Polyethylene ) นิยมเขียนเป็นอักษรย่อว่า XLPE มีคุณสมบัติพิเศษคือ ทนอุณหภูมิได้สูง และมีความเข็งทนต่อแรงเสียดสีได้ดี



วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ค่าพื้นฐานด้านแสงสว่าง

  1. ค่าฟลักซ์การส่องสว่าง (Luminous Flux) เป็นปริมาณแสงสว่างที่แผ่ออกจากแหล่งกำเนิดแสงต่อวินาที หน่วยวัดเป็นลูเมน (lm)
  2. ความส่องสว่าง (llluminance) หรือ Lux เป็นปริมาณแสงสว่างที่ตกกระทบบนวัตถุ (lumen) ต่อ 1 หน่วยพื้นที่ มีหน่วยเป็น m^2 (sq.m) โดยทั่วไป อาจเรียกว่า ระดับแสงสว่าง (Lighting level) จึงเป็นตัวบ่งชี้ค่าความสว่างในอาคารตามมาตรฐาน


ตัวอย่าง ค่าความสว่างในอาคารตามมาตรฐาน

3.ค่าความเข้มการส่องสว่าง (Luminous Intensity) เป็นความเข้มของแสงที่ส่องออกมาจากวัตถุ ในมุมตัน มีหน่วยเป็นแคนเดลา (Candela, cd)
ค่าความเข้มของการส่องสว่าง (I)

4.ค่าความส่องสว่าง (Luminance) คือปริมาณแสงที่สะท้อนออกมาจากพื้นผิวเข้าสู่ตา มีหน่วยวัดเป็น cd/sq.m. บางครั้งจึงอาจเรียกว่าความจ้า (Brightness)

ค่าความส่องสว่าง


5.ค่าประสิทธิผล (Efficacy) เป็นปริมาณแสงสว่างที่เปล่งออกมาต่อกำลังไฟฟ้าที่ใช้ (watt) มีหน่วยวัดเป็น (Lm/W) หลอดที่มีค่าประสิทธิผลสูงมีหลอดที่คุ้มค่ากว่า

6.ค่าความถูกต้องของสี (Colour Rendering, Ra หรือ CRI) เป็นการวัดความสามารถของแหล่งกำเนิดแสงในการทำให้สีของวัตถุนั้นผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด มักวัดเป็น % 

ตัวอย่าง ค่า CRI
7.ค่าอุณหภูมิสีของแสง (Color Temperature) สีของแสงที่ได้จากหลอดไฟมีหน่วยเป็นเคลวิน (k) เป็นตัวที่บอกว่าแสงที่ได้มีความขาวมากน้อยแค่ไหน  ในท้องตลาดทั่วไปมีให้เลือก 3 โทนสี


อ่านบทความอื่นๆต่อดังนี้

การเลือกหลอดไฟ LED สำหรับการใช้งาน

   ปัจจุบัน หลอดไฟและโคมไฟ LED ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟได้สูงสุดถึง 80% และเติมความสว่างไสวสวยงามให้บ้าน อีกทั้งหลอดยังไม่มีรังสี UV การแผ่ความร้อนของหลอดน้อย หลอดLED คือเทคโนโลยีของการส่องสว่างใหม่ กินไฟน้อยกว่าหลอดไส้มาก ทนทาน ให้ความ สว่างสูง เกิดความร้อนต่ำมาก
 
1) ระดับความสว่างที่ต้องการ (Lumen) และ อัตราการกินไฟ (Watt)

-ลูเมน (lm) คือหน่วยที่ใช้วัดปริมาณแสงทีเปล่งออกจากหลอด ตัวอย่าง


เปรียบเทียบหลอดไฟแบบต่างๆ

2) ลักษณะขั้วหลอดไฟ 
ขั้วหลอดไฟ LED : มีขั้วแบบมาตรฐานให้เลือกใช้กับโคมไฟแบบต่างๆ ดังนี้



ขั้วหลอดไฟ 

3) โทนแสง Day Light , Warm White , Coolwhite 
- สี Warm White จะให้แสงนวลตาและอบอุ่นเหมาะแก่การพักผ่อน 
- สี Cool White และ แสง Day Light นั้นเหมาะใช้ในบริเวณที่ต้องการแสงสว่างมากๆ เช่น โต๊ะทำงานหรือห้องครัว ฯลฯ 


ตัวอย่าง โทนแสงสีต่างๆ 



4) หลอดขาวขุ่นหรือหลอดใส
หลอดใส : เหมาะสำหรับโคมไฟที่ออกแบบมาให้สร้างลวดลายบนผนังยามเปิดไฟ 
หลอดขาวขุ่น : ให้แสงที่สม่ำเสมอ 

หลอดใส และ หลอดขาวขุ่น 



5) ต้องใช้สวิตช์หรี่ไฟหรือไม่ 
หลอดไฟ Led ที่หรี่ไฟได้ (Dimmable) และหรี่ไม่ได้(non Dimmable) เพียงสังเกตุที่สัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์


6) เลือกรูปทรงหลอดไฟ 
รูปทรงหลอดไฟ : มีหลายรูปแบบ เช่น 
หลอดจำปา ให้แสงคล้ายแสงเทียนเหมาะสำหรับโคมไฟประดับบ้าน 
หลอดทรงกลม เหมาะสำหรับโคมไฟและโป๊ะโคมที่ออกแบบมาให้สร้างลวดลายบนผนังยามเปิดไฟ หลอดทรงยาว ให้แสงคล้ายหลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดนีออน เหมาะสำหรับให้แสงสว่างทั่วไป 
ข้อสังเกตุ : ถ้าสังเกตุข้างกล่อง จะมีค่าความประหยัดไฟของหลอดไฟบอกตั้งแต่ระดับ A++ (ประหยัดสูงสุด) ไปจนถึง
รูปทรงหลอดไฟ ประเภทต่างๆ 


ค่าความประหยัดไฟ


7) มุมกระจายของแสง 
ปกติแล้วธรรมชาติของหลอด LEDนั้นเป็นแสงแบบพุ่งตรง แบบที่นำมาทำไฟฉาย คือพุ่งแต่ไม่กระจาย ดังนั้นเวลาไปใช้ทำไฟทางจริงๆจะสว่างแค่เป็นเฉพาจุด เรื่องกระจายแสงนี้
บางทีอาจจะสำคัญกว่าความสว่างที่จุดใดจุดหนึ่งของหลอด LED เสียอีก ทั้งนี้การกระจายแสงขึ้นอยู่กับ รีเฟลกเตอร์ ของโคมไฟแต่ละรุ่น ซึ่งมีองศาต่างกัน

มุมกระจายแสง

อ่านบทความอื่นๆต่อดังนี้

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การเลือกใช้งาน บล็อกแบบต่างๆ

วันนี้ผมจะมาแนะนำ การใช้งานและประเภทของBox พลาสติกคับ


หน้าที่ของบล็อก หลักๆคือ ใช้สำหรับฝังในผนังหรือติดตั้งบนเพดานเหนือฝ้า สำหรับติดตั้งปลั๊กหรือสวิตซ์ไฟฟ้า 


 ข้อดีข้อเสียของบล็อกแต่ละประเภท 

บล็อกแบบเหล็ก (Handy Box , Square Box) 
-แข็งแรง , มีให้เลือกหลายแบบหลายขนาด เช่น ตื้น , ลึก , ก้นทะลุ 
-สามารถใช้งานหลายวัตถุประสงค์ 
-อาจเป็นสาเหตุของการลัดวงจรได้ในระหว่างการซ่อมหรือถ้าติดตั้งไม่ดี
-ราคาถูก



ตัวอย่าง Handy Box แบบต่างๆ

บล็อกแบบพลาสติก
-สวยงาม ป้องกันการลัดวงจระหว่างซ่อมได้
-ติดตั้งยากกว่า เพราะถ้าวางท่อไม่ตรงช่องในตอนติดตั้ง ปลายท่ออาจไม่โผล่ การร้อยสายจะลำบาก
-หูยึดน๊อตถ้าหักด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามหลังการติดตั้ง กล่องนั้นใช้งานไม่ได้เลย


                        บล็อกพลาสติก PVC                          บล็อกฝังส้ม PVC 
                            
บล็อกยาง 
- มีความแข็งแรงทนทาน ทนความร้อนได้ดี 
- ใช้งานได้ทุกสภาพพื้นที่ 
- บล็อกมีความยืดหยุ่นสูง 
- อายุการใช้งานยาวนาน 
- ราคาค่อนข้างแพง
บล็อกยาง 



บล็อกไม้ (แผงไม้) 
- สวยงาม 
- ไม่ยืดหยุ่น หลุดง่าย
- อายุการใช้งานสั้น อาจเกิดการผุกร่อน
- ราคาแพง



วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มาดู มาตรฐานหลอดไฟกันคับ

มารู้จัก มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก) กันคับ 

เรื่องๆใกล้ตัว ที่คุณอาจยังไม่รู้

   หลายคนๆที่เคยซื้อหลอดไฟจาก ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านค้าปลีก คงพบเจอสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้ ที่ข้างกล่อง หรือ อุปกรณ์ คุณอาจสงสัยว่านี่คืออะไร

   วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันคับ

   ก่อนอื่นขออธิบายความหมายของ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม (มอก.) ที่หมายถึง ประสิทธิภาพของการนำไปใช้งาน ลักษณะอันสำคัญของผลิตภัณฑ์ คุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งจะบอกรวมไปถึงวิธีการทดสอบ เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งในด้านความปลอดภัยในการอุปโภค บริโภค มีประสิทธิภาพในการใช้งาน และสมราคา พูดง่ายๆ เครื่องหมายนี้จะช่วยรับประกันคุณภาพของสินค้านั้นเอง

   โดยมอก.นั้นจะประกอบด้วยหมายเลขชุดแรก ไว้บอกลำดับที่ในการออกเลข กับ หมายเลขชุดหลัง ไว้บอกปี พ.ศ.ที่ออกเลข  



   ซึ่งตรามาตรฐานสำหรับหลอดไฟนั้นจะมี 2 แบบคือ
  1. เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป  ที่ผู้ผลิตสามารถยื่นขอการรับรองด้วยความสมัครใจเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดมาตรฐาน
    2. เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ เป็นเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องทำตามมาตรฐาน และต้องแสดงเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
 ที่นี้เราลองมาดูมาตรฐานประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดไฟและอุปกรณ์ให้แสงสว่างอื่นๆ กันคับ
ตัวอย่าง มาตรฐานหลอดไฟ
  • มอก 236-2533 มาตรฐานชนิดทั่วไปสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ ด้านคุณภาพเกี่ยวกับ คุณสมบัติทางไฟฟ้า อายุการใช้งาน รูปร่างและมิติของหลอด เช่น หลอดต้องจุดติดสว่างอย่างน้อยสมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่ระบุ และยังคงติดสว่างอย่างต่อเนื่อง ค่าเริ่มต้นของกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าตามเกณฑ์ รวมทั้งค่าเริ่มต้นฟลักซ์การส่องสว่างของหลอดต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 ของค่าที่กำหนด เป็นต้น 
  • มอก 1506-2541 มาตรฐานทั้วไปสำหรับบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับ สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีลักษณะเฉพาะ เช่น อุณหภูมิสูงสุดขณะใช้งานบริเวณผิวนอกของบัลลาสต์ ค่ากระแสไฟฟ้าของตัวจ่าย ความถี่และแรงดันไฟฟ้าที่กำหนด 

ตัวอย่าง บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์
  • มอก 344-2549 มาตรฐานบังคับสำหรับขั้วหลอดฟลูออเรสเซนต์ และขั้วรับสตาร์ทเตอร์  ด้านเทคนิคและมิติ เพื่อกําหนดความปลอดภัยและความพอดีในการสวมหลอดเข้ากับขั้วรับหลอด และสตาร์ตเตอร์เข้ากับขั้วรับสตาร์ตเตอร์ โดยผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการออกแบบและทําขั้วรับให้อยู่ในลักษณะที่สามารถทํางานได้ตามปกติ ไม่ทําให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ มีการป้องกันทางไฟฟ้า ฉนวนต้องไม่เสื่อมคุณภาพ และจุดเชื่อมต่อต่างๆ ต้องไม่หลุดหลวม ทนทานต่อการใช้งาน 
                   
                                             ขั้วรับหลอดฟลูออเรสเซนต์            ขั้วรับสตาร์ทเตอร์
  • มอก 956-2533 มาตรฐานบังคับสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบกระแสสลับ เฉพาะด้านความปลอดภัย โดยกำหนดให้ขั้วหลอดต้องติดแน่นอยู่กับหลอดและมีความทนทานต่อโมเมนต์บิต ความต้านทานของฉนวนระหว่างฝาครอบกับขั้วหลอดต้องไม่น้อยกว่า 2 เมกะโอห์ม รวมทั้งมีรูปร่างและมิติเป็นไปตามข้อกำหนด 


ตัวอย่าง วงจรไฟฟ้า สำหรับ หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบกระแสสลับ
  • มอก. 885-253 มาตรฐานทั่วไปสำหรับบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับไฟฟ้ากระแสสลับ เฉพาะด้านความปลอดภัย จะเน้นการทำงานของบัลลาสต์เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและสภาพแวดล้อม ทั้งในภาวะการทำงานปกติและภาวะผิดปกติ (ภาวะผิดปกติ คือ การไม่ได้ใส่หลอดหรือใส่หลอดไม่ครบทุกหลอด ไส้หลอดข้างใดข้างหนึ่งขาด หลอดเสื่อมสภาพ หรือเกิดการลัดวงจรของสตาร์ตเตอร์) โดยกำหนดแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 1,000 โวลต์ พร้อมป้องกันการเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว เป็นต้น
  • มอก. 1955-2551 มาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์ส่องสว่างและผลิตภัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่ในการให้กำเนิดหรือกระจายแสงเป็นหลัก เช่น ป้ายโฆษณานีออน ,  โคมไฟภายนอกอาคาร และอุปกรณ์ส่องสว่างสำหรับการขนส่ง (ติดตั้งในรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ) เป็นต้น โดยเน้นตรงความเข้ากันได้ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมบอกขีดจำกัดสัญญาณรบกวนวิทยุ ซึ่งมีพิสัยความถี่ที่ครอบคลุมคือ 9 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 400 จิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้สามารถระงับสัญญาณรบกวนในขอบเขตที่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกันก็ยังมีการป้องกันทางวิทยุและความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ตัวอย่าง มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

   หวังว่าข้อมูลแก่ทุกท่านที่สละเวลามาอ่าน ไม่มากก็น้อย เพื่อนๆที่มาข้อสงสัยต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลได้จาก >> https://www.facebook.com/Tiangjarerns/ หรือสอบถามข้อมูลโดยตรงที่

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ) 


เพื่อนสามารถค้นหา ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ มอกจาก >>> ที่นี่ 

อ่านบทความอื่นๆต่อดังนี้